ทาจิกิสถาน

Country Profile : Tajikistan

 

 

   

 

ข้อมูลทั่วไป


เมืองหลวง
   ดูชานเบ (Dushanbe)

ประชากร     7.16  ล้านคน (2548) ชาวทาจิก ร้อยละ 79.9 

ศาสนา        อิสลาม นิกายสุหนี่  ร้อยละ 85 

สกุลเงิน   โซโมนิ (Somoni-TJS) 1 USD = 3.13 SM (ม.ค. 49)

ประธานาธิบดี นาย Imomali Rahmonov


พื้นที่
    143,100 ตร.กม.  ร้อยละ 90 เป็นภูเขา

ภาษา    ทาจิก (ภาษาราชการ) รัสเซีย

เวลา   เร็วกว่ามาตรฐาน GMT 5 ชั่วโมง

การปกครอง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ

นายกรัฐมนตรี นาย Oquil Oquilov

 

ข้อมูลเศรษฐกิจ


GDP
   2.1 พันล้าน USD   (2005)

GNI per capita 
280 USD  (2005)


ทรัพยากร
พลังงานน้ำ ปิโตรเลียม ยูเรเนียม ปรอท ถ่านหินสีน้ำตาล ดีบุก สังกะสี เงิน ทองคำ

ผลิตภัณฑ์ทางเกษตรกรรม  ฝ้าย ธัญพืช ผลไม้ (แตงไทย แตงโม แอบเปิ้ล แอพริคอท องุ่น แพร์ เลมอน)

อุตสาหกรรม   อลูมิเนียม สังกะสี ดีบุก เคมีและปุ๋ย ซีเมนต์ น้ำมันพืช เครื่องมือเครื่องจักรตัดเหล็ก

สินค้าส่งออก อลูมิเนียม (62.6%) ฝ้าย (17.7%) ไฟฟ้า (6.6%) ผลไม้ (เมล่อน แตงโม) น้ำมันพืช  สิ่งทอ

 

รู้เรื่องทาจิกิสถาน * * * * *

 
 
คนทาจิก (Tajiks) มาจากไหน ?

ชื่อเรียกชาวทาจิก มาจากคำว่า “Taj” ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มชนพื้นเมืองแถบเอเชียกลางที่พูดภาษาเปอร์เซีย (ชาวเอเชียกลางอื่นๆ ได้แก่ คาซัค อุซเบก พูดภาษาเติร์ก)  แต่โดยที่นับแต่อดีตดินแดนที่เป็นทาจิกิสถานปัจจุบันได้มีชนชาติต่างๆ เข้ามาครอบครอง ได้แก่ อาหรับ เปอร์เซีย มองโกล กรีซในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช อัฟกัน อุซเบก รัสเซีย รวมไปถึงการผสมผสานทางเชื้อชาติกับกลุ่มชาติพันธุ์ในเอเชียกลางอื่นๆ เช่น คาซัค อุซเบก ทำให้ปัจจุบันยากที่จะพบชาวทาจิกดั้งเดิม แต่กล่าวกันว่า เราสามารถสังเกตชาวทาจิกแท้ๆ  ได้จากลักษณะที่มีรูปหน้ายาว ตาโต และจมูกแบบชาวโรมัน

 

ทาจิกิสถานหลังได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียต


ทาจิกิสถานได้ได้รับเอกราชในปี 1990 ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต แต่ในช่วงแรก การเมืองภายในประเทศขาดเสถียรภาพเนื่องจากเกิดความขัดแย้งภายในอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มชาตินิยม  กลุ่ม Neo-communist และกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง และมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว 60,000 คน  ต่อมากลุ่มอิสลามหัวรุนแรงได้อพยพออกนอกประเทศพร้อมด้วยประชาชนหลายหมื่นคน ไปตั้งมั่นอยู่ทางภาคเหนือของอัฟกานิสถาน และกลับเข้ามาปฏิบัติการแบบกองโจรในทาจิกิสถาน ทำให้รัฐบาลทาจิกิสถานต้องพึ่งกองกำลังรัสเซียดูแลแนวชายแดนทาจิกิสถาน-อัฟกานิสถาน และมีการสู้รบยืดเยื้อเป็นเวลาหลายปี จนในปี 1997 จึงมีการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างประธานาธิบดี Emomali  Rahmonov กับนาย Sayed Abdulla Nuri ผู้นำกลุ่มแนวร่วมต่อต้านรัฐบาล (United Tajik Opposition - UTO)
 

ทาจิกิสถานในปัจจุบัน


สถานการณ์ทางการเมือง
ของทาจิกิสถานมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2005 ปรากฏว่า พรรค Peoples Democratic ของประธานาธิบดี Rahmonov ได้ รับคะแนนเสียงร้อยละ 80 ทั้งนี้ ทาจิกิสถานถูกวิพากษ์วิจารณ์มากจาก The Organization for Security and the Cooperation in Europe (OSCE) และพรรคฝ่ายค้านว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่โปร่งใส  สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปี ค.ศ. 2006 ซึ่งนักวิเคราะห์การเมืองคาดว่า ประธานาธิบดี Emomali Rahmonov จะได้รับชัยชนะอีกครั้งหนึ่ง

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ทาจิกิสถานเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดใน CIS ไม่มีน้ำมันและทางออกทะเล สินค้าเด่นคือ ฝ้ายและอลูมิเนียม และสามารถสามารถผลิตพลังงานน้ำได้ร้อยละ 4 ของผลการผลิตพลังงานน้ำโลกทั้งหมด แต่ในปัจจุบันยังขาดการลงทุน จึงยังไม่สามารถผลิตได้เต็มศักยภาพ รวมทั้งยังอยู่ระหว่างการวางระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็น ปัจจุบัน มีบริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนและดำเนินธุรกิจหลายประเทศ ที่สำคัญ คือ สหราชอาณาจักร รัสเซีย สหรัฐอเมริกา นอกจากนั้น ยังมีประเทศอื่นๆ อาทิ อิหร่าน จีน อินเดีย ตุรกี เกาหลีใต้ อิตาลี เวียดนาม อินโดนีเซีย      

สถานการณ์ด้านสังคม ปัญหาความยากจน การว่างงาน ระบบสุขอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐาน และ
ยาเสพติด เป็นปัญหาสำคัญในทาจิกิสถาน

 

 

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับทาจิกิสถาน

  • ทาจิกิสถานสามารถจับกุมการลักลอบยาเสพติดได้เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยเป็นเส้นทางผ่าน
    สำคัญของเฮโรอีนกว่าร้อยละ 80 ที่ผลิตในอัฟกานิสถานไปยังยุโรป

  • ทาจิกิสถานมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียกลาง ยาว 13 ม. สูง 2.85 ม.
   

พระพุทธรูป Ajina-Teppe สร้างในศตวรรษที่ 7 ทำขึ้นจากดินเหนียว ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ National Museum of Antiquities ของทาจิกิสถาน
ภาคเอกชนไทย (บริษัทเบลออย จำกัด) ได้บริจาคเงินเพื่อบูรณะซ่อมแซมพระพุทธรูปปางไสยยาสน์ ในทาจิกิสถาน เป็นจำนวน 629,517 บาท เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 2004

 
 
  • ทาจิกิสถานเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียกลาง นอกจากคาซัคสถาน และอุซเบกิสถาน
      ที่ตั้งอยู่ในเส้นทางสายแพรไหม (The Silk Road)

 

ข้อมูลความสัมพันธ์ทวิภาคี


สถาปนาความสัมพันธ์  
5 สิงหาคม ค.ศ. 1992

เอกอัครราชทูต  นายสรยุตม์ พรหมพจน์ (ถิ่นพำนัก ณ กรุงมอสโก)

มูลค่าการค้า      223,591 USD (ไทยส่งออก 122,293 USD นำเข้า 101,298 USD)

ไทยส่งออก
        สิ่งทอ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็ส สิ่งปรุงรสอาหาร

ไทยนำเข้า        ด้ายและเส้นใย เครื่องประดับอัญมณี ธุรกรรมพิเศษ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ

นักท่องเที่ยวมาไทย
       ปี ค.ศ. 2004 มีจำนวน 101 คน

ความตกลงสำคัญที่ลงนามแล้ว
1. การบริการเดินอากาศ  2. การส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน  
3. การค้า  4. ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและวิชาการ  5. การท่องเที่ยว  6. MOU ระหว่างกระทรวงต่างประเทศ   7. MOU ด้านการต่อต้านยาเสพติด

 

Thailand’s focus in Tajikistan in 2006


  1. ความร่วมมือด้านยาเสพติด – ในกรอบทวิภาคีภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านเสพติด  และโครงการส่งเสริมการพัฒนาทางเลือกของสอท. ณ กรุงมอสโก

  2. ความร่วมมือด้านวิชาการเพื่อการพัฒนาประเทศ - ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศโดยการให้ทุนฝึกอบรมด้านต่างๆ

  3. การศึกษาความเป็นไปได้ในการซื้อและลงทุนผลิตอลูมิเนียมในทาจิกิสถาน

  4. ความร่วมมือด้านการลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ

    โอกาสของไทยในทาจิกิสถาน


    1. การสั่งซื้ออลูมิเนียมจากทาจิกิสถาน
    – ปัจจุบันอลูมิเนียมที่ผลิตในทาจิกิสถานได้รับการยอมรับว่าเป็นอลูมิเนียมชั้นดี โดยเกือบทั้งหมดของอลูมิเนียมที่ผลิตในประเทศส่งไปขายผ่านตลาดล่วงหน้าที่ลอนดอน ในขณะที่ไทยมีความต้องการนำเข้าอลูมิเนียมจากต่างประเทศประมาณปีละ 3-5 แสนตัน ดังนั้นไทยอาจพิจารณาอลูมิเนียมจากทาจิกิสถานเป็นทางเลือกหนึ่งในการนำเข้า

    2. การลงทุนในโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำ – ทาจิกิสถานเป็นประเทศที่มีพื้นที่ร้อยละ 90 เป็นภูเขา มีแม่น้ำสายสำคัญหลายสาย ซึ่งภูมิประเทศของทาจิกิสถานเอื้อต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำ โดยปัจจุบันสามารถผลิตพลังงานน้ำได้ร้อยละ 4 ของผลการผลิตพลังงานน้ำโลกทั้งหมด และเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และรัสเซีย ซึ่งอิหร่านและรัสเซียได้เข้าไปลงทุนแล้ว ทั้งนี้ ในระหว่างการเยือนไทยของประธานาธิบดีทาจิกิสถานเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2005 ทาจิกิสถานได้เสนอให้ไทยเข้าไปลงทุนในโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อเป็นพลังงานป้อนโรงงานอลูมิเนียมที่จะเป็นผลิตภัณฑ์นำเข้าของไทยต่อไป

     

    ไปทาจิกิสถาน


    เที่ยวบิน
      สายการบินที่มีเที่ยวบินไปยังกรุง Dushanbe ยังมีจำกัด โดยหากเดินทางจากกรุงเทพฯ สามารถต่อเครื่องได้ที่ มิวนิค อิสตันบูล เดลี มอสโก อัลมาตี (คาซัคสถาน)

    ขอ visa  คนไทยที่สนใจเดินทางไปทาจิกิสถาน โดยไม่มีหน่วยงานภาครัฐหรือบริษัทท่องเที่ยวจัดการให้  สามารถขอรับ visa on arrival ได้ที่สนามบินดูชานเบ สำหรับสถานเอกอัครราชทูตทาจิกิสถานที่ใกล้ที่สุดที่คนไทยสามารถขอรับ visa ได้ คือ จีนและอินเดีย หรืออาจเดินทางมารัสเซีย (สายการบินไทยเปิดเที่ยวบินตรงแล้ว) เพื่อขอรับ visa และต่อเครื่องไปยังทาจิกิสถานจากกรุงมอสโกซึ่งมีเที่ยวบินประจำเกือบทุกวัน

     
           
     

     

     
    * * * * * * * * * * * *
    สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก
     

    * *  ท่านสามารถอ่านข้อมูลประเทศทาจิกิสถานโดยละเอียดได้ในเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศที่ www.mfa.go.th * * *